จากการสังคายนาและจัดระบบองค์ความรู้ของการแพทย์พื้นบ้านล้านนาและการแพทย์ชนเผ่าต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) จนเป็นที่ยอมรับทั้งในภาครัฐคือ กระทรวงสาธารณสุขที่นำไปสู่นโยบายเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ภาคเอกชนที่นำไปปรับใช้ในธุรกิจบริการสุขภาพจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของสปาไทย/สปาท้องถิ่น และภาคประชาชนที่เกิดกระแสนิยมการแพทย์พื้นบ้านเป็นทางเลือกที่ไม่สามารถหาได้จากการแพทย์ระบบอื่น ก็นับว่าได้รับการตอบสนองที่ดีจนคาดไม่ถึง

            อย่างไรก็ตามถึงจะมีกระแสนิยม แต่การแพทย์พื้นบ้านยังไม่มีกฎหมายรองรับ ถึงจะพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรี แต่ก็ยังไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ การปรับแก้กฎหมายจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านให้มีความชัดเจนและปลอดภัยอีกมาก แม้แต่การแพทย์แผนไทยเองซึ่งก็พัฒนาไปจากการเป็นพื้นบ้านจนเป็นการแพทย์ราชสำนักมีตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์และมีกฎหมายรองรับ เป็นวิชาชีพที่ถูกกฎหมาย แต่เนื่องจากถูกทอดทิ้งมานานเป็นร้อยปีโดยไม่ได้รับการพัฒนาให้ร่วมสมัย ก็ยังไม่สามารถให้หลักประกันในประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย

            ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบองค์ความรู้ของการแพทย์ล้านนาและชนเผ่า รวมทั้งเป็นผู้พัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยถึงระดับปริญญาตรี 4 ปี ครบทั้ง 4 สาขา ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 เป็นสถาบันแรกของประเทศจนจบการศึกษาเป็นแพทย์แผนไทยบัณฑิตทำงานประจำในโรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศแล้วถึง 4 รุ่น ยิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อความรับผิดชอบในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อประชาชน เพราะทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทยยังต้องพัฒนา ศึกษาวิจัยและตรวจสอบอีกมากมายอย่างรีบด่วน หาไม่แล้ววันใดที่ประชาชนผิดหวังก็อาจจะพากันหันหลังไปหาการแพทย์ระบบอื่นๆ และไม่มีกระแสนิยมการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์พื้นบ้านไทยอีก  วันนั้นก็จะเป็นจุดจบที่หาโอกาสฟื้นตัวไม่ได้อีกยิ่งกว่าที่ถูกทอดทิ้งมาแล้ว 100 ปี

            แม้ว่าภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนการแพทย์แผนไทยต่างก็รู้แก่ใจและเพียรพยายามทุ่มเทพัฒนาแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ต้องใช้ทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ตลอดจนความคล่องตัวในกฎระเบียบที่ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาอีกมากมายมหาศาล จนลำพังภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่อาจบรรลุผลในเวลาอันรวดเร็วได้ ภาคเอกชนที่ลงทุนเชิงธุรกิจก็คงไม่เอื้อที่จะลงทุนฟื้นฟูภูมิปัญญาดังกล่าวให้ร่วมสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้

            ดังนั้น องค์กรสาธารณกุศลที่เป็นนิติบุคคลได้แก่มูลนิธิจึงเป็นทางออกหนึ่ง แต่มูลนิธิที่มีอยู่และเข้าใจปัญหานี้จนพร้อมเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังมีอยู่จำกัดมาก ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกในด้านนี้ จึงจำเป็นต้องทำหน้าเป็นผู้นำในการบุกเบิกการจัดตั้ง “มูลนิธิการแพทย์พื้นบ้าน” เสียเอง เพื่อจะได้นำร่องแก่องค์กรใหม่ๆ และองค์กรอื่นๆ มาช่วยภาครัฐร่วมพลังกันแก้ไขปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้